* ข้อมูลล่าสุด 2 มกราคม 2568
จำนวนทรัพย์สินทางปัญญามหาวิทยาลัยศิลปากร 2560 - 2567
ขั้นตอนการขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
3.1 สิทธิบัตร (Petent)
คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และอนุสิทธิบัตร ผู้ทรงสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรมีสิทธิเด็ดขาดหรือสิทธิเด็ดขาดหรือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงกาผลประโยชน์จากการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรนั้น ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent) หมายถึง การให้ความคุ้มครองการคิดค้นเกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้าง หรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ มีอายุความคุ้มครอง 20 ปี นับแต่วันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patent) หมายถึง การให้ความคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรมได้ และแตกต่างไปจากเดิม มีอายุความคุ้มครอง 10 ปี นับแต่วันยืนคำขอรับสิทธิบัตร
อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) คือ การให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์จากความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก โดยอาจเป็นการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ หรือปรับปรุงจากการประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนเพียงเล็กน้อย มีอายุความคุ้มครอง 6 ปี นับตั้งแต่วันยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร และต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ตั้งแต่เริ่มต้นปีที่ 5 และปีที่ 6 ทั้งนี้ สามารถต่ออายุได้สองครั้ง ครั้งละ 2 ปี (รวม 10 ปี)
3.2 แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout – Design of Integrated Circuits)
หมายถึง แบบ แผนผัง หรือภาพที่ทำขึ้น ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบหรือวิธีใด เพื่อแสดงถึงการจัดวางและการเชื่อมต่อของวงจรไฟฟ้า เช่น ตัวนำไฟฟ้า หรือ ตัวต้านทาน เป็นต้น อายุความคุ้มครอง 10 ปี นับแต่วันยื่นขอจดทะเบียน หรือวันที่นำออกหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก แล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นก่อน ทั้งนี้ไม่เกิน 15 ปีนับแต่วันที่สร้างสรรค์แบบผังภูมินั้นเสร็จ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ผู้สร้างสรรค์ก็ไม่สามารถนำแบบผังภูมิมาขอจดทะเบียนได้ แม้ว่าจะไม่เคยนำแบบผังภูมินั้นออกมาหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ก็ตาม
3.3 เครื่องหมายการค้า (Trademark)
หมายถึง เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือตรา ที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- เครื่องหมายการค้า (Trademark) คือเครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้กับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น มาม่า กระทิงแดง เป็นต้น
- เครื่องหมายบริการ (service Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้กับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น การบินไทย ธนาคารกรุงไทย โรงแรมดุสิต เป็นต้น
- เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้หรือจะใช้กับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฮาลาล เป็นต้น
- เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้หรือจะใช้โดยบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
อายุความคุ้มครอง เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว มีอายุความคุ้มครอง 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และสามารถขอชำระค่าธรรมเนียมเพื่อต่ออายุความคุ้มครองออกไปได้ทุกๆ 10 ปี (เท่ากับว่ามีความคุ้มครองไม่สิ้นสุด หากเจ้าของชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุไปโดยตลอด)
3.4 ความลับทางการค้า (Trade Secret)
หมายถึง ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป โดยเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ และมีการดำเนินการตามสมควรเพื่อทำให้ข้อมูลนั้นปกปิดเป็นความลับ
3.5 ชื่อทางการค้า (Trade Name)
หมายถึง ชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจการ เช่น ไทยประกันชีวิต ขนมบ้านอัยการ เป็นต้น
3.6 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication)
หมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์และสามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ส้มโอนครชัยศรี ไข่เค็มไชยา เป็นต้น อายุการคุ้มครอง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับการคุ้มครองตลอดไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา เว้นแต่จะมีการเพิกถอนทะเบียน
4.1 กรณีถูกละเมิดเครื่องหมายการค้า
- ร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
- หลักฐานประกอบการร้องทุกข์ ได้แก่
- ทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือหนังสือรับรองรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งนายทะเบียนรับรองความถูกต้องที่เป็นต้นฉบับมาแสดง (จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร)
- หนังสือรับรองนิติบุคคลกรณีเจ้าของเครื่องหมายเป็นนิติบุคคล
- หนังสือมอบอำนาจให้ตัวแทนมีอำนาจในการแจ้งความร้องทุกข์ กรณีเจ้าของเครื่องหมายเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลต่างประเทศ โดยหนังสือมอบอำนาจต้องเป็นต้นฉบับ ถ้าจะใช้สำเนาต้องมีการรับรองความถูกต้องแท้จริงโดยวิธีการตามกฎหมายของประเทศนั้น (ให้โนตารีพับลิค หรือแมจิสเตรทรับรอง) แล้วให้สถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยรับรองอีกชั้นหนึ่ง (ป.วิแพ่งม.47 ประกอบกับป.วิอาญา ม. 15)
- กรณีเป็นเครื่องหมายการค้าที่จดเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร จะต้องนำทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นต้นฉบับมาแสดง
- เอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศจะต้องแปลเป็นภาษาไทย และรับรองคำแปลถูกต้อง
- ตัวอย่างสินค้าของจริง และตัวอย่างสินค้าของปลอม
- หลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) เช่น หลักฐานการโฆษณาสินค้า สำเนาใบเสร็จรับเงินจากการจำหน่ายสินค้าหลักฐานแสดงความแพร่หลายของสินค้า เป็นต้น
4.2 กรณีถูกละเมิดลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ในประเทศ
- ร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
- หลักฐานประกอบการร้องทุกข์ ได้แก่
- หลักฐานการสร้างสรรค์งาน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยเจ้าของลิขสิทธิ์
- เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนจะต้องนำหนังสือรับรองลิขสิทธิ์ หรือหนังสือรับรองสิทธิ์ไปแสดงต่อพนักงานสอบสวน หากไม่มีหนังสือรับรองลิขสิทธิ์หรือหนังสือรับรองสิทธิให้นำหลักฐานการเผยแพร่หรือประกาศโฆษณางานอันมีลิขสิทธิ์นั้นไปแสดงต่อพนักงานสอบสวน โดยลิขสิทธิ์ดังกล่าวยังไม่หมดอายุการคุ้มครอง
- ตัวอย่างงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์และตัวอย่างงานที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนจะต้องนำภาพถ่ายหรือภาพจำลองวัตถุที่แสดงถึงพฤติการณ์แห่งการละเมิดไปแสดงต่อพนักงานสอบสวน
- ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์มิได้มาแจ้งความร้องทุกข์ด้วยตัวเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจทุกช่วงไม่ขาดสายให้แจ้งความร้องทุกข์แทนพร้อมด้วยหลักฐานการมอบอำนาจ คือบัตรประจำตัวของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจหรือหนังสือรับรองนิติบุคคล
- สำเนาบัตรประชาชนหรือหนังสือรับรองนิติบุคคลพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
ลิขสิทธิ์ต่างประเทศ
- ร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
- หลักฐานประกอบการร้องทุกข์ ได้แก่
- หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและเงื่อนไขการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของต่างประเทศที่เป็นบ่อเกิดแห่งงาน เช่น ชื่อผู้สร้างสรรค์งาน การเผยแพร่โฆษณางาน การจดทะเบียนลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์นั้น ชื่อผู้แปลหรือจัดทำคำบรรยายเป็นภาษาไทย รวมทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องรับรองว่าได้สร้างสรรค์งานขึ้นเมื่อใด
- หนังสือมอบอำนาจซึ่งบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ได้มอบอำนาจให้บุคคลหรือนิติบุคคลในประเทศไทยเป็นตัวแทน ซึ่งจะต้องรับรองความถูกต้องโดยวิธีการตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ แล้วให้สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยรับรองอีกชั้นหนึ่ง (มีโนตารีพับลิค หรือแมจิสเตรท รับรอง)
- หนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล เช่น คำให้การของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งให้การต่อหน้าโนตารีพลับลิค
- หนังสือรับรองฐานะนิติบุคคลของผู้รับมอบอำนาจในประเทศไทย (ถ้ามีการตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในประเทศไทย)
- หนังสือมอบอำนาจให้บุคคลร้องทุกข์แทน (ในกรณีที่มีการมอบอำนาจช่วง) พร้อมด้วยหลักฐานการมอบอำนาจ คือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องหรือหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคล
- อนุสัญญากรุงเบอร์น ค.ศ.1886 กรรมสารกรุงเบอร์นสิน ค.ศ.1908 พิธีสารเพิ่มเติมกรุงเบอร์น ค.ศ.1914 กรรมสารกรุงปารีส ค.ศ.1971 และเอกสารที่แสดงว่าเป็นบ่อเกิดแห่งงานซึ่งถูกละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมพร้อมคำแปลภาษาไทย
- ตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ของประเทศที่เป็นบ่อเกิดแห่งงานพร้อมคำแปลภาษาไทย
- เอกสารซึ่งมาจากต่างประเทศจะต้องเป็นต้นฉบับ ถ้าจะใช้สำเนาจะต้องมีการรับรองความแท้จริงถูกต้องโดยวิธีการตามกฎหมายของประเทศนั้น(เช่น ให้โนตารีพับลิคหรือแมจิสเตรทรับรองว่าบุคคลดังกล่าวมีตัวตนจริง)แล้วให้สถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยรับรองอีกชั้นหนึ่ง
- ตัวอย่างงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์และตัวอย่างงานที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์
- เอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยพร้อมรับรองคำแปลจากเจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทน
4.3 กรณีถูกละเมิดสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร
- ร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
- หลักฐานประกอบการร้องทุกข์ ได้แก่
- ต้นฉบับจริงของสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร (ดูข้อถือสิทธิเป็นสำคัญ)
- กรณีนิติบุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรจะต้องแสดงหนังสือรับรองนิติบุคคลด้วย
- กรณีผู้ทรงสิทธิบัตรมิได้มาแจ้งความร้องทุกข์ด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้มาแจ้งความร้องทุกข์แทน หากผู้ทรงสิทธิบัตรเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลต่างประเทศเอกสารเกี่ยวกับการมอบอำนาจจะต้องเป็นต้นฉบับ ถ้าจะใช้สำเนาจะต้องมีการรับรองความแท้จริงถูกต้องโดยวิธีการตามกฎหมายของประเทศนั้น (เช่นให้โนตารีพับลิคหรือแมจิสเตรทรับรอง)แล้วให้สถานเอกอัครราชทูตไทยหรือกงสุลไทยรับรองอีกชั้นหนึ่ง
- เอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศจะต้องแปลเป็นภาษาไทยและมีการรับรองคำแปลถูกต้องโดยเจ้าของสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร
- ตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ ตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรของแท้ และตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร
5.1 กรณีถูกกล่าวหาว่าละเมิดเครื่องหมายการค้า
1) ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้กล่าวหาได้ใช้เครื่องหมายการค้ามาก่อนหรือไม่ หรือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศไทยหรือต่างประเทศมาก่อนหรือไม่ เพื่อทราบข้อเท็จจริงว่าผู้กล่าวหาเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริง
2) ตรวจสอบว่าผู้กล่าวหามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วยหรือไม่และเป็นผู้ทำการจับกุม เนื่องจากการจับกุมเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น โดยอาจขอดูบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ
3) การตรวจค้นในที่รโหฐานเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีหมายค้นของศาลมาแสดงก่อนจึงจะทำการค้นได้
4) คดีละเมิดเครื่องหมายการค้าไม่สามารถยอมความกันได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะตกลงระงับคดีโดยจ่ายเงินเป็นค่าชดเชยความเสียหายเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีต่อได้
5) ควรติดต่อหรือประสานทนายความเพื่อมาอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับคดี (ถ้ามี)
6) ของกลางในคดี ได้แก่ ทรัพย์สินที่ได้ทำหรือมีไว้เป็นความผิด หรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิด
7) ผู้ถูกจับย่อมมีสิทธิดังต่อไปนี้
- มีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก (ป.วิอาญา ม.7/1)
- มีสิทธิรับทราบข้อกล่าวหาในการกระทำความผิด (ป.วิอาญา ม.83 ว.2)
- มีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ เนื่องจากถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี (ป.วิอาญา ม.83 ว.2)
- มีสิทธิในการพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว (ป.วิอาญา ม.7/1 และม.83 ว.2)
5.2 กรณีถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์
1) ตรวจสอบหลักฐานว่าผู้กล่าวหาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ (เป็นผู้สร้างสรรค์) จริงหรือไม่ หรือได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยวิธีใด เช่น เป็นผู้รับโอนลิขสิทธิ์ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ เป็นต้น
2) ตรวจสอบว่ามีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ เนื่องจากคดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอันยอมความได้ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนต้องร้องทุกข์ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจะทำการจับกุม และคดีสามารถระงับได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันตามกฎหมาย
3) ตรวจสอบว่าผู้กล่าวหามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วยหรือไม่และเป็นผู้ทำการจับกุม เนื่องจากการจับกุมเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น โดยอาจขอดูบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ
4) การตรวจค้นในที่รโหฐานเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีหมายค้นของศาลมาแสดงก่อนจึงจะทำการค้นได้
5) คดีละเมิดลิขสิทธิ์สามารถยอมความกันได้ ดังนั้นจึงควรยอมความต่อหน้าพนักงานสอบสวนและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
6) ตรวจหลักฐานการมอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินคดี เช่น เอกสารหมดอายุหรือไม่ การมอบอำนาจถูกต้องหรือไม่ มีอำนาจร้องทุกข์ ถอนคำร้องทุกข์ หรือยอมความหรือไม่ เป็นต้น
7) ควรติดต่อหรือประสานทนายความเพื่อมาอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับคดี (ถ้ามี)
8) ของกลางในคดี ได้แก่ ทรัพย์สินที่ได้ทำหรือมีไว้เป็นความผิด หรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิด
5.3 กรณีถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิบัตร
1) ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้กล่าวหาได้จดทะเบียนสิทธิบัตรไว้แล้วหรือไม่
2) ตรวจสอบว่าผู้กล่าวหามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วยหรือไม่และเป็นผู้ทำการจับกุม เนื่องจากการจับกุมเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น โดยอาจขอดูบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ
3) การตรวจค้นในที่รโหฐานเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีหมายค้นของศาลมาแสดงก่อนจึงจะทำการค้นได้
4) คดีละเมิดสิทธิบัตรไม่สามารถยอมความกันได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะตกลงระงับคดีโดยจ่ายเงินเป็นค่าชดเชยความเสียหายเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีต่อได้
5) ควรติดต่อหรือประสานทนายความเพื่อมาอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับคดี (ถ้ามี)
6) ของกลางในคดี ได้แก่ ทรัพย์สินที่ได้ทำหรือมีไว้เป็นความผิด หรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิด
วิดีโอทรัพย์สินทางปัญญา จัดทำโดย สำนักงานบริหารการวิจัยฯ
ความรู้เบื้องต้นทรัพย์สินทางปัญญา
ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
เครื่องหมายการค้า
การจัดเตรียมคำขอรับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร
การสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร บนฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
ปนัดดา กุลพานิช Tel : 091-7235455 ศิริเพ็ญ ปิยะไตรภูมิ Tel : 094-5680221 E-mail : ip.suric.su@gmail.com
_________________________________________________________________________________________________________